บทสนทนาเหนือกาลเวลาร้อยเรียงความงามทางวัฒนธรรมจากอดีตสู่ปัจจุบันในคอลเลคชั่น Dior Fall 2025
Author: Phuriwat Hirunrangsee | Photographer: Courtesy of Dior and the rights holder
Apr 23, 2025
"...หลายคนคงนึกสงสัยว่าทำไมDior จึงเลือกจัดแสดงแฟชั่นโชว์ Fall 2025 ที่กรุงเกียวโตประเทศญี่ปุ่น แต่หากมองย้อนไปยังประวัติศาสตร์ของแบรนด์ ดิออร์มีความผูกพันกับประเทศญี่ปุ่นนับแต่กลางทศวรรษ 50S เรื่อยมาจนปัจจุบัน จึงไม่น่าแปลกใจที่งานสร้างสรรค์ในครั้งนี้ได้รวบรวมองค์ประกอบที่ถ่ายทอดเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างดิออร์และประเทศญี่ปุ่นได้อย่างน่าหลงใหล ภายใต้แนวคิดที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายและผืนผ้าได้อย่างลงตัว..."
ย้อนกลับไปในปี 1953 เมอซิเออร์ดิออร์นับเป็นดีไซเนอร์โอต์ กูตูร์คนแรกที่นำคอลเลคชั่นเสื้อผ้าของเขาไปจัดแสดงผลงานในญี่ปุ่น ชื่อเสียงของเขานับเป็นที่ประจักษ์มากยิ่งขึ้นเมื่อเขาได้รับเลือกให้ออกแบบชุดสำหรับพิธีสมรสให้กับเจ้าหญิง Michiko ในปี 1959 โดยได้ออกแบบชุดเจ้าสาวที่สง่างามทั้งหมดสามชุด
ไม่เพียงเท่านั้นดิออร์ยังได้ร่วมงานกับ Tatsumura สตูดิโอทอผ้าชื่อดังในเกียวโต ในการทอผ้าโบรเคดที่มีลวดลายเฉพาะตัวเพื่อตัดเย็บชุด Outamaro สำหรับคอลเลคชั่น Autumn/Winter 1954-1955 ครีเอทีฟที่มารับช่วงต่อจากเมอซิเออร์ดิออร์ต่างยังคงความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์และญี่ปุ่นเสมอมา Marc Bohan ครีเอทีฟไดเรกเตอร์ในอดีตเองก็เคยเดินทางมาจัดโชว์ที่โตเกียวในปี 1971 และได้สร้างสายสัมพันธ์กับโลกแห่งละครญี่ปุ่นที่เปี่ยมด้วยเสน่ห์อันน่าหลงใหล ในขณะที่ John Galliano ได้รับแรงบันดาลใจจาก Madame Butterfly และภาพพิมพ์ The Great Wave off Kanagawa ผลงานของ Katsushika Hokusai ในการสร้างสรรค์คอลเลคชั่นโอต์ กูตูร์ในปี 2007 งานออกแบบสุดดรามาติกที่ตราตรึงใจใครหลายคนมาจนถึงทุกวันนี้
ในการมาเยือนญี่ปุ่นในครั้งนี้ Maria Grazia Chiuri เลือกวัดโทจิอันเก่าแก่เป็นสถานที่ในการจัดโชว์ โดยมีดอกซากุระบานสะพรั่งกลางสวนประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมสีทองอันเรืองรองเป็นฉากหลังที่งดงามและเป็นการให้ความเคารพต่อวัฒนธรรมของโชว์ครั้งนี้ ท่ามกลางเหล่านางแบบที่สวมใส่ชุดสวยที่ฟุ้งกลิ่นอายความงามในแบบตะวันออกทว่ายังดูงดงามร่วมสมัยเช่นกัน
![]() |
![]() |
มาเรีย กราเซีย คิอูรีได้ศึกษาโครงสร้างของกิโมโนอย่างลึกซึ้ง กิมิโนเป็นโครงเสื้อที่ไร้เส้นแบ่งทางเพศ มีความร่วมสมัยอีกทั้งยังเปลี่ยนแปลงลักษณะไปตามร่างกายของผู้สวมใส่ รวมถึงการหยิบยกผลงานเก่าที่เมอซิเออร์ดิออร์ได้เคยสร้างสรรค์ไว้ในอดีตอย่างเสื้อ Diorpaletot และ Diorcoat สำหรับสวมทับกิโมโนในคอลเลคชั่นใบไม้ร่วงและฤดูหนาวปี 1957 เสื้อคลุมทับที่ไม่ทำลายโครงเสื้อของกิโมโนแต่ยังเสริมความสง่างามได้อย่างน่าหลงใหล
![]() |
![]() |
เธอนำโครงสร้างนี้มาใช้ในงานออกแบบโดยยังให้ความเคารพกับโครงสร้างดั้งเดิม ทั้งยังมอบอิสระในการเคลื่อนไหวพร้อมความสบายในการสวมใส่ถ่ายทอดสู่ลุคสวยในโทนสีดำและน้ำเงินที่ซ่อนรายละเอียดความเป็นญี่ปุ่นเอาไว้เช่นปกพับแบบออริกามิ การสไตลิ่งด้วยเข็มขัดคาดเอวหรือรองเท้าแบบซามูไร ก่อนที่เสื้อผ้าที่มีความละเอียดอ่อนมากขึ้นด้วยการตกแต่งพู่ชายครุย และการนำลวดลายดอกไม้มาสร้างสรรค์เป็นงานพิมพ์ภาพวาดที่บอกเล่าเรื่องราวอันเป็นเอกลักษณ์โดยโรงงานมัดย้อมกิโมโน Kihachi Tabata รวมถึงลายปักดิ้นทองแสนประณีตที่สร้างสรรค์ด้วยการปักมือจะเผยโฉมในอีกหลากลุค
ไม่เพียงเท่านั้นงานออกแบบครั้งนี้ยังให้เกียรติแก่ทักษะช่างฝีมือของญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็น สตูดิโอทอผ้า Tatsumura ซึ่งนำลวดลายที่ดิออร์เคยสั่งทำไว้ในช่วงปี 1950s มาต่อยอดเป็นผ้าโบรเคดสีเขียวเทาเข้มที่มีลวดลายเรขาคณิตแบบร่วมสมัยตัดเย็บเป็นเสื้อคลุมสไตล์กิโมโนพร้อมกางเกงเข้าชุด อีกหนึ่งลุคคือผ้าโบรเคดสีทองลวดลายดอกไม้อันพิถีพิถันรังสรรค์เป็นเสื้อคลุมคาดเข็มขัดที่ทันสมัย
นอกจากนั้นเธอยังร่วมงานกับครอบครัว Fukuda ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคการย้อมแบบดั้งเดิม ในการสร้างสรรค์ลุคไฮไลต์บนรันเวย์ไม่ว่าจะเป็นเสื้อแจ็กเก็ตสไตล์กิโมโนคาดเข็มขัดพร้อมกางเกงขาสั้นระดับเข่าในโทนสีขาวงาช้างสะอาดตาและโทนสีเขียวเข้มแบบไล่เฉด เธอยังนำความประทับใจจากนิทรรศการ Love Fashion: In Search of Myself ซึ่งคิอูรีได้เดินทางมาชมที่เกียวโตมาสร้างบทสนทนาใหม่ผ่านเสื้อผ้าที่หลอมรวมสองวัฒนธรรมไว้อย่างลงตัว
การมาเยือนเกียวโตในครั้งนี้จึงเป็นการเชื่อมโยงอดีตและปัจจุบันระหว่างห้องเสื้อคริสเตียน ดิออร์ และประเทศที่รุ่มรวยด้วยวัฒนธรรมแห่งนี้ให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้อย่างน่าปรารถนาที่สุด พร้อมสะท้อนจุดยืนในการนำเสนอความหรูหราในรูปแบบที่เรียบง่ายแต่แฝงไว้ด้วยรายละเอียดอันพิถีพิถันที่หยั่งรากลึกไปถึงศิลปะและวัฒนธรรมตามที่ดิออร์ยึดถือมาเสมอ
![]() |
![]() |
อ่านบทความเพิ่มเติม: Jonathan Anderson และบทใหม่ของ Dior ที่ทั่วโลกต่างจับตามอง