Logo Hashtag Legend

Pride Month: สารพันไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ที่กลุ่ม LGBTQIA+ มอบให้แก่โลกแฟชั่น

Author: Kantinan Srisan | Photographer: -

Jun 20, 2024

“...อย่างที่ทราบกันเป็นอย่างดีว่าเดือนมิถุนายนในทุก ๆ ปีนั้น ถือเป็นเดือนสำคัญเชิงวัฒนธรรมอย่างแท้จริง เนื่องด้วยการเป็นเดือนประจำเทศกาล Pride Month ที่มักจะนำความตื่นเต้นมาให้ผู้คนได้พบเห็นกันอยู่เสมอๆ ไม่ว่าจะเป็นขบวนพาเหรดสุดยิ่งใหญ่ แคมเปญจากหลากหลายแบรนด์ที่พร้อมใจกันออกมาสนับสนุนความหลากหลายทางเพศกับอย่างคับคั่ง ไปจนถึงมูฟเมนต์ต่างๆ อีกมากมายที่ส่งสารถึงเรื่องราวของความเท่าเทียม เพื่อร่วมเป็นส่วนสำคัญในการเฉลิมฉลองให้กับ Pride Month และความหลากหลายทางเพศ #Legend_th ได้หยิบยกเหตุการณ์สำคัญในแวดวงแฟชั่นที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย หากขาดซึ่งแรงบันดาลใจจากกลุ่มคอมมูนิตี้ LGBTQIA+ ผู้เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในวงการแฟชั่น…”

Gender-fluid

รูปภาพจาก Saint Laurent, Loewe และ Peter Do

หนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดในเรื่องนี้คงจะเป็นอื่นใดไปไม่ได้นอกเสียจากการเกิดขึ้นของเทรนด์ Gender Fluidity หรืออีกนิยามที่ทำให้เข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้นคือการแต่งกายโดยไม่ยึดติดต่อเพศสภาพของตน ผู้ชายไม่ได้ถูกกำจัดกรอบความคิดหรือความชอบอยู่เพียงแค่เสื้อผ้าสำหรับสุภาพบุรุษ ในขณะเดียวกันสุภาพสตรีเองก็ไม่ได้มีความจำเป็นต้องแต่งกายเฉกเช่นหญิงสาวเสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความเป็นตัวตนเข้ามามีบทบาทสำคัญมากกว่ากรอบสังคมที่มีมาแต่อดีต ทำให้หลากหลายนักออกแบบในปัจจุบันได้รังสรรค์คอลเลคชั่นที่มีกลิ่นอายความเป็น Gender Fluid ไม่ว่าจะเป็น Saint Laurent by Anthony Vaccarello, Loewe, Jonathan Anderson, Peter Do และอีกมากมาย

The birth of Camp

รูปภาพจาก Vanity Fair

ความเป็น Camp ในภาพจำของใครหลาย ๆ คน คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความเกี่ยวเนื่องกับสไตล์หรือลุคที่มีความอลังการ เป็นธีมงานที่มักจะอยู่คู่กับงานเลี้ยงหรูหราหรืองานกาล่าที่เห็นเมื่อใดก็สร้างความประทับใจได้เสมอๆ แต่แท้จริงแล้วนั้น คำว่า Camp หรือสไตล์ Camp นั้นศัพท์สแลงของกลุ่มคนรักร่วมเพศ (Homosexual Slang) ที่เป็นที่รู้จักครั้งแรกเมื่อปี 1909 และยังคงมีความหมายในภาษาอิตาเลียนที่สื่อความหมายถึงประโยคที่ว่า “ทำอะไรบางอย่างที่โดดเด่นอย่างยิ่งยวด” ในเวลาเดียวกันความเป็น Camp นั้นอยู่คู่กับวัฒนธรรมของกลุ่มรักร่วมเพศมาอย่างยาวนานนับแต่อดีตจนปัจจุบัน แต่วัฒนธรรมมากความโดดเด่นนี้ได้ถูกทวีความน่าสนใจขึ้นไปอีกระดับ เนื่องด้วยจังหวะเวลาที่ประจวบเหมาะของสังคมที่มีความเปิดกว้างต่อความหลากหลายทางเพศที่มากขึ้น ทำให้สไตล์สุดพิเศษอย่าง Camp ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงเฉพาะกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศอีกต่อไป หากแต่ถูกนำมาประยุกต์ให้เกิดเป็นเสื้อผ้าหรืออาภรณ์สำหรับออกงานที่มีความพิเศษได้อย่างที่ไม่มีใครเหมือน ดังที่เราเห็นกันในงานกาล่าระดับโลกมากมาย และคงปฏิเสธไม่ได้ว่า Met Gala ปี 2019 คืออีเวนท์ที่ทำให้ภาพจำของสไตล์ Camp เป็นที่ฮือฮาและยอมรับไปทั่วโลกทั้งชาย หญิง และกลุ่มรักร่วมเพศ และสิ่งที่จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่ได้กลุ่ม LGBTQIA+ เป็นผู้ริเริ่มมันขึ้นมา

“I wouldn’t say camp is synonymous with queer, but I would say that you can’t have camp without queer.”

Erique Zhang

The rainbow force

รูปภาพจาก Thom Browne, Calvin Klein และ Stella McCartney

อีกหนึ่งผลงานที่เราไม่อาจละเลยได้เลยสำหรับสิ่งที่กลุ่มความหลากหลายทางเพศได้มอบให้กับอุตสาหกรรมแฟชั่น หลากหลายสีสันที่สดใสและดูสนุกสนานต่างถูกนำมาแสดงออกถึงตัวตนของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างเป็นที่สังเกตเห็นได้จากธงลวดลายสายรุ้งในขบวนพาเหรดที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1978 โดยกลุ่มชายรักชาย ณ มหานครซานฟรานซิสโก คือหนึ่งในหลักฐานที่บอกเล่าถึงเรื่องราวดังกล่าวได้เป็นอย่างดี 

จริงอยู่ที่เฉดสีสดใสได้ถูกริเริ่มใช้งานกันมาอย่างยาวนานในหมู่นักออกแบบเสื้อผ้าก่อนที่เส้นแบ่งระหว่างเพศสภาพจะโอนอ่อนลงอย่างเช่นปัจจุบัน แต่ก็ปฏิเสธอีกไม่ได้เช่นกันว่าการที่หลากหลายแบรนด์กล้าที่จะเล่นสนุกกับเฉดสีแปลกใหม่และรูปทรงของงานออกแบบที่มีความสนุกและสร้างสรรค์กันมากขึ้น ทั้ง Falabella Rainbow Crystal Dégradé Mini Tote Bag จาก Stella McCartney, สปอร์ตโค้ท Multi-color Seersucker Rainbow Stripe Sport Coat จาก Thom Browne, คอลเลคชั่นชุดชั้นในจาก Calvin Klein และอีกมากมาย ที่ซึ่งต้องยอมรับว่าไอเดียสุดสร้างสรรค์เหล่านี้ ส่วนหนึ่งล้วนเกิดขึ้นได้จากการริเริ่มและยอมรับต่อความหลากหลายทางเพศของกลุ่ม LGBTQIA+ ด้วยเช่นกัน

Unparalleled Creativeness

รูปภาพจาก Google Arts & Culture, onwardcouture และ IMDB

สำหรับหัวข้อสุดท้ายนี้ อาจไม่สามารถกล่าวได้ว่าเป็นสิ่งที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นผู้ริเริ่มให้กับวงการแฟชั่น แต่เป็นผู้ “ผลักดัน” เสียมากกว่า และสิ่งนั้นจะเป็นอะไรไปไม่ได้เลยนอกเสียจาก “ความคิดสร้างสรรค์” หลากหลายผลงานของนักออกแบบที่เป็นกลุ่ม LGBTQIA+ ทรงคุณค่าในฐานะตำนานแห่งงานออกแบบ ไม่ว่าจะเป็น Tom Ford ที่กลับมาชุบชีวิตให้กับ Gucci เมื่อปี 1990 ที่กำลังอยู่ในสภาวะสุ่มเสี่ยงจะล้มละลาย Giorgio Armani กับชุดสูทไร้โครงสร้าง (Unconstructed) Christian Dior กับกระโปรง The New Look Karl Lagerfeld กับความเป็นตำนานของเขาที่ชาเนล (Chanel) Yves Saint Laurent กับ Le Smoking แสนโด่งดัง และอีกมากมาย ดังนั้นแล้วจึงอาจไม่เป็นเรื่องที่เกินจริงสักเท่าไหร่ หากเราจะกล่าวว่า หลากหลายไอเดียและงานออกแบบระดับตำนานของโลกแฟชั่นกว่าครึ่งต่างได้รับการบุกเบิกขึ้นจากความสร้างสรรค์ของกลุ่ม LGBTQIA+

อ่านบทความเพิ่มเติม: Kiehl’s Open Doors ประตูสู่โอกาสที่มุ่งช่วยเหลือและส่งเสริมกลุ่มเยาวชนผู้มีความหลากหลายทางเพศให้มีโอกาสในการทำงานอย่างเท่าเทียม

RECOMMENDED READS