Logo Hashtag Legend

ชวน พอใจ อัครธนกุล คุยถึงเรื่องวัฒนธรรมป๊อปและวงการศิลปะไทยในสายตาคิวเรเตอร์ยุคใหม่

Author: Krissana Kochathamarat, Asst.Prof,Rewat Chumnarn, and Kantinan Srisan | Photographer: Somkiat Kangsdalwirun, The Parq, and Press

Apr 08, 2025

"...ในโลกของศิลปะการเป็น คิวเรเตอร์ คือการทำหน้าที่ไม่ต่างจากผู้เล่าเรื่อง ทุกการเลือกสรรผลงานศิลปะและการนำเสนอล้วนมีความหมายและจุดประสงค์ที่ลึกซึ้ง เราชวนพอใจ อัครธนกุล คิวเรเตอร์ของ Bangkok Art Biennale (BAB) มาถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานที่หลากหลายและท้าทายในวงการศิลปะไทย โดยเฉพาะบทบาทสำคัญในการเติบโตและพัฒนาของงานเทศการศิลปะระดับโลก ซึ่งได้รับการยอมรับจากผู้ชมทั้งในและต่างประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา..."

ความสนุกในการเป็นคิวเรเตอร์ของ Bangkok Art Biennale

"สิ่งที่สนุกที่สุดคือการได้เห็นเบื้องหลังของการจัดงานที่เต็มไปด้วยรายละเอียดและความท้าทาย เราไม่เพียงแต่คัดสรรผลงานศิลปะจากทั่วโลกมาจัดแสดง แต่ยังได้ร่วมมือกับศิลปินทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งช่วยให้เรามีโอกาสเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง และการเปิดโอกาสให้ศิลปินส่ง Open Call เข้ามาร่วมงานก็เป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของ BAB เรามีโอกาสได้เห็นงานใหม่ๆ จากที่แปลกๆ ในโลกที่เราอาจจะไม่รู้จักมาก่อนหรือเข้าไม่ถึง”

อุปสรรคและความท้าทายในการจัดงาน

“หนึ่งในความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดคือการทำงานในพื้นที่สาธารณะ เพราะเราไม่มีพื้นที่ของตัวเองจึงต้องทำงานร่วมกับเจ้าของพื้นที่ต่างๆ เช่น BACC (หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร) หรือแม้กระทั่งการจัดแสดงใน วัดโพธิ์ ซึ่งมีลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป ในบางพื้นที่มีลักษณะการใช้งานแบบดั้งเดิม เช่น วัดโพธิ์ที่มีทั้งผู้มาท่องเที่ยวและผู้มาสักการะพระ การจะนำเสนอศิลปะในบริบทนี้จึงต้องมีการพิจารณาและปรับตัวอย่างเหมาะสม เพื่อไม่ให้ศิลปะรบกวนบรรยากาศดั้งเดิม แต่ในขณะเดียวกันต้องสามารถกระตุ้นความคิดและสร้างคำถามใหม่ๆ ให้แก่ผู้ชมได้”

ความสำเร็จของ BAB และการเติบโตของวงการศิลปะไทย

"งาน BAB ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการเข้าถึงผู้ชม ในปีแรกๆ ผู้คนอาจยังไม่รู้จัก แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็มีผู้ชมจำนวนมากที่เข้ามาชมงานของเรา แม้ว่าเราจะเป็น Biennale ที่ยังใหม่อยู่เมื่อเทียบกับงาน Biennale ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก อย่าง Venice Biennale แต่เรามีจำนวนผู้ชมเยอะกว่า และพอใจมองว่าเรายังมี Room to Grow หรือพื้นที่สำหรับการพัฒนาอีกมาก การมี BAB เป็นตัวกระตุ้นก็ทำให้เกิดการพัฒนาในวงการศิลปะ แต่เรายังต้องพัฒนาระบบต่างๆ เพื่อให้วงการนี้เติบโตไปในทิศทางที่ยั่งยืน"

Pop Culture และบทบาทในแวดวงศิลปะ

"ในบ้านเราก็จะมีเทรนด์ของ Art Toy เข้ามา การสะสม Art Toy ทำให้คนเริ่มรู้จักศิลปะมากขึ้น และมันช่วยให้คนหันมาสนใจงานศิลปะร่วมสมัย การที่ศิลปะมีความเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมป๊อป เช่น แฟชั่น หรือ Art Toy ก็ทำให้วงการศิลปะสามารถเข้าถึงคนทั่วไปได้มากขึ้น เพราะศิลปะไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในพิพิธภัณฑ์หรือห้องแสดงงานศิลปะ แต่สามารถอยู่ในชีวิตประจำวันของเราได้”

ศิลปะกับโซเชียลมีเดียและการปรับตัวของคิวเรเตอร์

"เราไม่ปฏิเสธการใช้สื่อโซเชียลในงานศิลปะอยู่แล้ว โดยเฉพาะเราเป็น Biennale ที่พยายามจะสื่อสารกับผุ้คน เราไม่ได้ปฏิเสธการที่ผู้ชมจะถ่ายรูปหรือลงโซเชียลมีเดีย เพราะมันช่วยให้ผู้ชมมีส่วนร่วมกับงานศิลปะในแบบของตัวเอง แต่เราต้องไม่ลืมว่าศิลปะนั้นต้องการเวลาในการสัมผัสและความเข้าใจ การแชร์ภาพบนโลกออนไลน์เป็นแค่จุดเริ่มต้น แต่ความรู้สึกและการตีความของผู้ชมที่มีต่อผลงานจริงๆ คือตัวแปรสำคัญ"

เทรนด์ใหม่ที่คิวเรเตอร์และศิลปินกำลังให้ความสนใจ

“ตอนนี้การใช้ AI ในงานศิลปะเริ่มได้รับความสนใจ มีการสร้างงานศิลปะโดยใช้ AI และการประมูล AI Art ที่สถาบันต่างๆในราคาที่สูงมาก จนเป็นที่ถกเถียงกันว่า AIจะมาแย่งงานศิลปินหรือไม่ แต่เรามองว่า AI เป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างงาน ไม่จำเป็นต้องมองว่าเป็นสิ่งที่กีดกัน และการใช้ AI ในศิลปะยังคงเป็นคำถามใหม่ที่เราต้องหาคำตอบในอนาคตว่ามันจะเป็นเครื่องมือที่เสริมสร้างหรือจะเป็นภัยต่อศิลปิน

มองอนาคตของศิลปะไทย

“เติบโตขึ้นแน่นอน ในปี 2025 นี้ก็มีสถาบันใหม่ๆ เปิดมากขึ้น ในฐานะคนทำงานเบื้องหลัง เราคาดหวังให้วงการศิลปะเติบโตขึ้น และระหว่างทางเราก็ต้องพัฒนาระบบนิเวศน์ของมันด้วย ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาคนดู พัฒนาคนทำงานเบื้องหลัง ให้ทำงานแบบมืออาชีพได้ พัฒนางานในระดับนานาชาติ ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าไม่มีงานก็ไม่มีพื้นที่ให้ทดลองทำงานจริง”

อ่านบทความเพิ่มเติม: Exclusive Interview: เส้นทางของ "เก่ง หฤษฎ์ " ที่เริ่มต้นจากความฝันเล็กๆ สู่การเป็นนักแสดงดาวรุ่ง 

RECOMMENDED READS