Logo Hashtag Legend

Tiffany Wonder นิทรรศการรวบรวมผลงานอันน่าจดจำกว่า 500 ชิ้นจาก Tiffany & Co. ณ กรุงโตเกียว

Apr 30, 2024

"...หนึ่งแบรนด์เครื่องประดับอันมีประวัติศาสตร์ให้เล่าขานมาอย่างยาวนานคงจะต้องมีแบรนด์สัญชาติอเมริกันอย่างทิฟฟานี่แอนด์โค (Tiffany&Co.) รวมอยู่ด้วยอย่างแน่นอน เรื่องราวที่ถ่ายทอดผ่านศิลป์อัญมณีมาร่วมนับร้อยปีนับตั้งแต่ปี 1837 ได้ถูกนำเสนอผ่านนิทรรศการทิฟฟานี่วันเดอร์ (Tiffany Wonder) จัดขึ้นที่แกลเลอรี่ TOKYO NODE ซึ่งตั้งอยู่ภายใน Toranomon Hills Station Tower อาคารที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งในโตเกียว..."

ด้านหน้าทางเข้านิทรรศการนั้นโดดเด่นสะดุดตาด้วยประติมากรรมรูปนกกระตั้วสีเหลืองเช่นเดียวกับงานออกแบบ Bird on a Rock ยืนอยู่บนกล่องสีฟ้าทิฟฟานี่ผูกริบบิ้นขนาดใหญ่มีลูกเล่นให้ผู้ที่ยืนในบริเวณนั้นสามารถเล่นโต้ตอบกับดิจิตัลอาร์ตรูปนกกระตั้วแบบสามมิติ นิทรรศการได้แบ่งห้องจัดแสดงออกเป็นทั้งหมด 10 ห้อง เพื่อจัดแสดงเครื่องประดับและอาร์ตพีซทั้งหมดรวมกว่า 500 ชิ้นงาน ร้อยเรียงเรื่องราวภายใต้การออกแบบของทิฟฟานี่แอนด์โคจากอดีตจนปัจจุบัน

In Love  With Japan

ย้อนกลับไปในปี 1837 ชาร์ลส เลวิส ทิฟฟานี่ (Charles Lewis Tiffany) ได้เริ่มต้นสายสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์และประเทศญี่ปุ่นด้วยการคัดสรรและนำเข้าสินค้าจากประเทศญี่ปุ่นซึ่งล้วนเป็นของหายากมาวางขายที่สหรัฐอเมริกา ห้องจัดแสดงที่เล่าเรื่องราวแรงบันดาลใจจากญี่ปุ่นนั้นจัดแสดงโคมไฟ  Stain glass ผลงานออกแบบของชาร์ลส เลวิส ทิฟฟานี่ที่ได้ไอเดียมาจากญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังจัดแสดงถาดโลหะแกะสลักลวดลายศิลปะตะวันออก เครื่องประดับทองสลักลวดลายรูปนกกระเรียนเคียงข้างต้นสน ไม่เพียงเท่านั้นนักออกแบบอีกหลายคนของแบรนด์ไม่ว่าจะเป็น เอ็ดวาร์ด ซี. มัวร์ (Edward C. Moore), หลุยส์ คอมฟอร์ด ทิฟฟานี่ (Louis Comfort Tiffany) และ เอลซ่า เปเร็ตติ (Elsa Peretti) มักจะนำแรงบันดาลใจจากศิลปะญี่ปุ่นมาออกแบบออกแบบเครื่องประดับชิ้นสวยของทิฟฟานี่แอนด์โค

โดยเฉพาะ เอลซ่า เปเร็ตติ ด้วยความหลงใหลในรูปทรงธรรมชาติเธอจึงได้ออกเดินทางเพื่อหาแรงบันดาลใจที่ญี่ปุ่นซึ่งมีหลักฐานปรากฏเป็นสมุดบันทึกที่แสดงภาพร่างแบบที่เธอนำไอเดียจากการบรรจุหีบห่อด้วยวิธีการมัดของญี่ปุ่น ศิลปะการผูกร้อยเส้นไหม รวมไปถึงงานลงรักมาใช้ในการออกแบบแอ็กเซสเซอรี่ที่มีเอกลักษณ์ของเธอ นอกจากนี้ยังมีผลงานของ จอร์จ พอลดิ้ง ฟาร์นแฮม (George Paulding Farnham) เข็มกลัดดอกกล้วยไม้ที่กลีบดอกเสมือนจริงด้วยเทคนิคการลงยาพร้อมก้านดอกประดับด้วยอัญมณีสีสวยสร้างสรรค์เครื่องประดับที่ดูสวยสมจริงในทุกดีเทล นิทรรศการนี้จึงถือเป็นการเฉลิมฉลองและแสดงความเคารพต่ออิทธิพลที่แบรนด์เครื่องประดับแห่งนี้ได้รับจากประเทศญี่ปุ่น

Bird on a Rock

ชิ้นงานระดับมาสเตอร์พีซที่โดดเด่นในการจัดแสดงครั้งนี้คือเข็มกลัด Bird on a Rock งานออกแบบชิ้นไอคอนิกฝีมือการออกแบบโดย ฌอง ชลัมเบร์เชร์ เปิดตัวครั้งแรกในปี 1965 ด้วยการร้องขอจาก บันนี่ เมลลอน (Bunny Mellon) สาวสังคมที่หลงใหลในแฟชั่นเธอขอให้ฌองออกแบบเข็มกลัดชิ้นสวยที่ไม่เหมือนใครให้ Bird on a Rock จึงเป็นสัญลักษณ์ของความสนุก อิสรภาพ และความเป็นไปได้ เข็มกลัดรูปนกกระตั้วหงอนเหลืองยืนเหยียบอยู่ด้านบนอัญมณีเม็ดเดี่ยวปรากฏตัวในเวอร์ชั่นที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นตัวเรือนแพลตินัมและทองประดับด้วยแอเมทิสต์, อความารีน, แทนซาไนต์, ซิทริน รวมถึงคุนไซต์อัญมณีสีชมพูที่แบรนด์ค้นพบในปี 1902 และตั้งชื่อตามนักอัญมณีศาสตร์ของแบรนด์ ดร. จอร์จ เฟเดอริก คุนซ์ (Dr. George Frederick Kuntz) ในยุคแรกเริ่มนั้นขนาดของนกที่อยู่บนอัญมณีจะมีขนาดเท่ากัน ต่อมาภายหลังได้มีการปรับเปลี่ยนให้ขนาดของนกสัมพันธ์ไปกับขนาดของอัญมณีที่ถูกเลือกใช้ในงานออกแบบ

Flight of Fancy

งานออกแบบ Bird on a Rock ได้กลายมาเป็นชิ้นงานระดับตำนานเมื่อได้หลอมรวมกับเพชรสีเหลืองขนาด 128.54 กะรัตในปี 1995 โลกของ ฌอง ชลัมเบร์เชร์ และ ชาร์ลส เลวิส ทิฟฟานี่ได้บรรจบกันอย่างสมบูรณ์แบบ เข็มกลัดชิ้นสวยได้ถูกนำไปจัดแสดงในงาน  the Retrospective พิพิธภัณฑ์ the Musée des Arts Décoratifs ณ กรุงปารีส ในปี 2023 เพชรสีเหลืองล้ำค่าส่องประกายบนตัวเรือนใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อเฉลิมฉลองการเปิดตัวครั้งยิ่งใหญ่ของเดอะแลนด์มาร์ค (The Landmark) ร้านของทิฟฟานี่แอนด์โคบน  ฟิฟท์ อเวนิว (Fifth Avenue) เครื่องประดับในดีไซน์ใหม่ได้แรงบันดาลใจจากงานดีไซน์ไร้กาลเวลาของ Bird on a Rock นกกระตั้วหงอนเหลืองบินสยายปีกในท่วงท่าต่างๆรวม 5 ตัวรายล้อมเพชรสีเหลือง ขนาด 128.54 กะรัต ตัวเรือนสามารถใส่เป็นจี้ประดับสร้อยคอหรือเข็มกลัดที่สง่างาม จัดแสดงในลักษณะลอยตัวอยู่ในตู้กระจก ผนังด้านหลังสามด้านนั้นฉายภาพดิจิตอลอาร์ตสลับสับเปลี่ยนกันไปสร้างอารมณ์ความรู้สึกร่วมให้เราซึมซับความงามอย่างลึกซึ้งในการชื่นชมรายละเอียดอันพิถีพิถันบนชิ้นงาน

Blue Book

สมุดแคตาล็อกปกสีเขียวอมฟ้าถูกส่งผ่านไปรษณีย์ถึงมือลูกค้าของทิฟฟานี่แอนด์โคในปี 1845 เพื่อให้ลูกค้าได้เห็นรูปเครื่องประดับดีไซน์ใหม่ของแบรนด์ก่อนใคร หนังสือปกสีฟ้านี้ยังคงสืบทอดมาสู่การสร้างสรรค์คอลเลคชั่นเครื่องประดับชั้นสูงในปัจจุบัน เพื่อเป็นการเชิดชูประวัติศาสตร์ที่มีมาอย่างยาวนานนี้จึงมีส่วนจัดแสดงหนึ่งที่อุทิศให้กับชิ้นงานที่เคยเป็นส่วนหนึ่งใน Blue Book

The Medusa Pendant

หนึ่งชิ้นงานที่อาจเรียกได้ว่าเป็นไฮไลต์ในการจัดแสดงครั้งนี้คือจี้เมดูซาที่หวนคืนสู่แบรนด์อีกครั้ง จี้รูปแมงกระพรุนที่กำลังเติบโตอยู่ในระยะเมดูซ่า ผลงานการออกแบบเครื่องประดับของ หลุยส์ คอมฟอร์ด ทิฟฟานี่ ที่ทำขึ้นในช่วงปี 1904 เป็นชิ้นงานที่มีความโดดเด่นและสะท้อนเอกลักษณ์ในการออกแบบของหลุยส์ ก่อนที่จะถูกซื้อไปแล้วแบรนด์ได้ค้นพบอีกครั้งในการประมูลของซัทเทบีส์ (Sotheby’s) จากนั้นได้ถูกประมูลกลับคืนสู่แบรนด์ในปี 2021 ด้วยราคาที่สูงกว่าสามล้านดอลลาร์สหรัฐ

Garden of Imagination

ไม่เพียงแค่ความสวยงามและคลาสสิกของ Bird on a Rock เท่านั้นที่ ฌอง ชลัมเบร์เชร์ ได้สร้างสรรค์ไว้ให้กับทิฟฟานี่แอนด์โคแต่ยังมีงานออกแบบที่เขาใช้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติมาสร้างสรรค์เป็นงานดีไซน์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยเฉพาะสร้อยคอ Plume สร้อยคอขนนกที่ดูอ่อนช้อยทว่าทรงพลังรังสรรค์ด้วยตัวเรือนแพลตินัมและทองประดับด้วยเพชรและทับทิมผลงานออกแบบในปี 1962 ที่ถูกนำมาผลิตในปี 2018  งานออกแบบเข็มกลัดชิ้นสวยที่เคยอยู่ในครอบครองของเหล่าคนดังมาจัดแสดง เช่น เข็มกลัดรูปชุดเกราะตกแต่งอัญมณีสีสวย Trophee de Vaillance Clip ในปี 1941 ซึ่งเคยเป็นสมบัติของ Diana Vreeland และเข็มกลัด Fleur der Mer ในปี 1956 เข็มกลัดรูปดอกไม้ตัวเรือนแพลตินัมประดับเพชรและแซฟไฟร์ซึ่งเคยอยู่ในครอบครองของนักแสดงผู้ทรงเสน่ห์ อลิซาเบธ เทย์เลอร์ (Elizabeth Taylor)

In the Wonder of Dreams

อีกหนึ่งส่วนจัดแสดงที่น่าสนใจคือการจำลองดิสเพลย์ของทิฟฟานี่แอนด์โคผ่านมุมมองของผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์หลายคนของแบรนด์ที่สร้างให้ศิลปะการจัดวางตู้โชว์ของทิฟฟานี่นั้นชวนฝันและมีเอกลักษณ์ โดยเฉพาะผลงานของ จีน มัวร์ (Gene Moore) ที่เขาได้สร้างสรรค์ศิลปะตู้โชว์ให้กับร้านบนถนนฟิฟท์ อเวนิว มากกว่า  5,000 แบบ ดึงดูดให้ผู้คนที่พบเห็นจะต้องหยุดมองสร้างจินตนาการให้เราได้เฝ้าฝันถึงเครื่องประดับชิ้นสวย สถานที่จัดงานในครั้งนี้ตั้งอยู่ใน Toranomon Hills Station Tower อาคารที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งในโตเกียวออกแบบโดย OMA บริษัทสถาปัตยกรรมชื่อดังซึ่งเป็นผู้ปรับโฉมเดอะแลนด์มาร์คร้านของทิฟฟานี่แอนด์โคบนถนนฟิฟท์ อเวนิว สถานที่แห่งนี้จึงสะท้อนให้เห็นถึงจุดร่วมระหว่างทิฟฟานี่แอนด์โค, กรุงโตเกียว และมหานครนิวยอร์ก นิทรรศการจะจัดแสดงไปจนถึงวันที่ 23 มิถุนายนนี้

 

รูปภาพจาก: Tiffany & Co.

อ่านบทความเพิ่มเติม: Breitling เปิดตัวอีเวนท์สุดเอ๊กซ์คลูซีฟฉลองวาระครบ 140 ปี

RECOMMENDED READS