Logo Hashtag Legend

ชิ้นงานมรดกจากปี 1906-1953 สะท้อนเรื่องราวประวัติศาสตร์ของ VCA ที่รวบรวมมาจัดแสดงในนิทรรศการ  The Van Cleef & Arpels Collection

Author: Phuriwat Hirunrangsee | Photographer: Courtesy of Van Cleef & Arpels

Jul 02, 2024

"...Van Cleef & Arpels นับเป็นหนึ่งเมซงเครื่องประดับที่มีประวัติศาสตร์มายาวนานนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1895 ที่แบรนด์ได้ก่อตั้งขึ้นมา แน่นอนว่ามีชิ้นงานมรดกที่มีความสำคัญมากมายที่บ่งบอกเรื่องราวอันน่าประทับใจอีกทั้งยังสะท้อนสไตล์และบริบทต่างๆในช่วงเวลาที่แบรนด์ได้รังสรรค์ผลงานชิ้นนั้นขึ้นมา ชิ้นงานที่มีความสำคัญเหล่านั้นได้ถูกรวบรวมมาเพื่อจัดแสดงในนิทรรศการ ‘The Van Cleef & Arpel Collection..."

The Creative Boom (1906-1925)

ในส่วนแรกในนิทรรศการครั้งนี้ได้นำชิ้นงานที่สร้างสรรค์ขึ้นในปี 1906-1925 มาจัดแสดง ช่วงเวลานี้นับเป็นช่วงที่แวนคลีฟ แอนด์ อาร์เปลส์ เริ่มเป็นที่รู้จักกลุ่มสังคมชั้นสูง ซึ่งมีการสั่งทำเครื่องประดับและเครื่องใช้ตกแต่งอัญมณีมากมายจนเมซงแห่งนี้ได้ถูกขนานนามว่า “ผู้นำแห่งว็องโดม” เนื่องจากบูติกเลขที่ 22 ซึ่งตั้งอยู่ที่จัตุรัส ปลาซ ว็อง โดม นั้นมีลูกค้ามาเยี่ยมเยือนอยู่อย่างไม่ขาดสาย ผลงานต่างๆ ในช่วงนี้จึงสะท้อนศาสตร์และศิลป์อันช่ำชองของแบรนด์อัญมณีฝรั่งเศส ไฮไลต์ชิ้นเด่นในช่วงเวลานี้นั้นมีทั้งกำไลข้อมือ Entwined Flowers, Red and White Roses กำไลข้อมือประดับอัญมณีเป็นรูปดอกกุหลาบที่ร้อยเรียงทับทิมสลับกับเพชรได้อย่างน่าหลงใหล แต่งแต้มกิ่งก้านด้วยโอนิกซ์ เพชรแฟนซีสีเหลือง และมรกต เป็นงานดีไซน์ที่ความงดงามราวกับภาพวาดจิตรกรรมที่สะท้อนความงามในแบบศิลปะอาร์ตเดโคอย่างลงตัว สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมกุหลาบนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ของฝรั่งเศสนั้นถูกส่งต่อผ่านกาลเวลาและกลับมาได้รับความนิยมอย่างสูงจากช่วงทศวรรษ 1910s โดยเฉพาะในงานออกแบบเครื่องประดับ เพียงแต่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบจากการลอกเลียนรูปแบบกุหลาบที่เสมือนจริงมาสู่ดอกกุหลาบที่มีความเป็นกราฟิกและมีเหลี่ยมมุมมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีสร้อยข้อมือที่ตัวเรือนแพลตินัมในดีไซน์แบบกราฟิกที่ดูสมมาตรลงตัวประดับไปด้วยมรกตน้ำงามเรียงกันสามเม็ดอย่างลงตัว

A Unique Identity (1926-1937)

สำหรับช่วงเวลานี้นับเป็นช่วงเวลาในการพัฒนาเอกลักษณ์ของแบรนด์ภายใต้การนำของเรอเน ปุุยซ์ซองต์ (Renée Puissant)ลูกสาวของอัลเฟร็ดและเอสเธอร์ที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของแบรนด์  โดยการสร้างสรรค์ชิ้นงานที่มีรูปแบบเฉพาะตัวมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับที่มีดีไซน์อันล้ำสมัย เช่น เข็มกลัดรูปทรงวงกลมในปี 1930 กระเป๋าทรงกล่อง Minaudière สร้างสรรค์ในปี ค.ศ.1933 สำหรับใส่ของใช้ของผู้หญิงโดยเฉพาะเครื่องสำอาง โดยตัวกระเป๋านั้นทำจากแพลตินัมหรือทองตกแต่งด้วยแล็กเกอร์ให้มีความเงางามพร้อมประดับด้วยอัญมณีหรือเพชร

ไม่เพียงเท่านั้นยังมีนาฬิกา Cadenas ในปี 1935 ที่นับได้ว่าเป็นงานออกแบบระดับไอคอนิกที่แวนคลีฟเป็นผู้ริเริ่มสร้างรูปแบบนี้ขึ้นมา โดยตัวเรือนนั้นมีรูปแบบเหมือนแม่กุญแจที่มีสายโลหะคู่ต่อยาวออกมาจากฐานและมาบรรจบกันบริเวณห่วงคล้องเหมือนกับเป็นสร้อยข้อมือแต่แท้จริงแล้วมีหน้าปัดนาฬิกาซ่อนอยู่ซึ่งหน้าปัดได้ถูกจัดวางให้เอียงเข้าหาผู้สวมใส่ซึ่งสามารถอ่านเวลาได้ง่าย เนื่องจากสมัยก่อนนั้นการสวมใส่นาฬิกาข้อมือยังไม่เป็นที่นิยมในสุภาพสตรี นาฬิกาข้อมือที่ออกแบบสำหรับผู้หญิงนั้นจึงมีรูปแบบที่แนบเนียนราวกับเป็นเครื่องประดับชิ้นหนึ่ง นอกจากดีไซน์ที่ถูกพัฒนาให้มีเอกลักษณ์มากขึ้นแล้วยังมีการพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคนิคในการสร้างสรรค์เครื่องประดับให้ดูล้ำสมัยกว่าแบรนด์อื่นๆในช่วงเวลานั้น

 From Paris to New York (1938 – 1953)

 หลังจากที่เครื่องประดับอันวิจิตรงดงามของแบรนด์ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในปารีสแล้วก็ได้เวลาที่แวนคลีฟแอนด์อาร์เปลส์นั้นจะขยายอาณาจักรมาสู่มหานครนิวยอร์กในช่วงทศวรรษ 1940 เมื่่อสมาชิกในครอบครัวตัดสินใจไปตั้้งรกรากในสหรัฐอเมริกา มีหลายชิ้นงานที่สร้างสรรค์ในช่วงเวลานี้ที่มีความโดดเด่นและน่าจดจำไม่ว่าจะเป็นเข็มกลัดดอกโบตั๋๋นปี ค.ศ. 1937 ตัวเรือนแพลตินัมประกอบทองคำสีเหลืองรองรับงานฝังทับทิมเจียระไนหลากหลายรูปทรงแบบซ่อนหนามเตยประดับเพชร ซึ่งเป็นการฝังอัญมณีที่มีมิติสมจริงสร้างให้เข็มกลัดกลีบดอกโบตั๋นนี้ดูพลิ้วไหวราวกับกลีบดอกไม้จริง ซึ่งเข็มกลัดชิ้นนี้ได้รับการออกแบบให้เป็นเข็มกลัดดอกโบตั๋นคู่กันที่สามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบและเปลี่ยนแปลงคู่สีในการสวมใส่ได้ เข็มกลัดชิ้นนี้อยู่ในครองครองของของเจ้าหญิงฟัยซะฮ์แห่งอียิปต์ในปี 1946 ในปัจจุบันเข็มกลัดชิ้นนี้ได้หวนคืนสู่ Van Cleef & Arpels Collection  อีกหนึ่งชิ้นงานที่มีความโดดเด่นคือสร้อยคอ Collaret ในปี 1939 สร้อยคอแผงตาข่ายตัวเรือนแพลตินัมประดับด้วยเพชรทรงกลมกว่า 355 เม็ด และเพชรทรงบาเกตต์จำนวน 318 เม็ด ผลงานระดับมาสเตอร์พีซที่เคยอยู่ในครอบครองของพระราชินีนาซิลของอียิปต์ เป็นชิ้นงานที่มีความงดงามในทุกมิติ

อีกหนึ่งชิ้นงานที่มีความน่าสนใจในช่วงเวลานี้คือ Passe-Partout เป็นภาษาฝรั่่งเศสที่แปลว่า กุุญแจผีซึ่งคำนี้ถูกนำมาใช้นิยามเครื่องประดับที่สามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปตามจุดประสงค์ในการใช้งานได้ เช่น นาฬิกาข้อมือที่สร้างสรรค์ในปี 1939 ที่สวยสะดุดตาด้วยสายทูบอกัสรังสรรค์จากทองคำสีเหลือง สายทูบอกัสมีคุณสมบัติเด่นในการยืดและหดได้คล้ายกับสปริงขดลวดโลหะ เรือนเวลานี้โดดเด่นด้วยการแต่งแต้มเข็มกลัดรูปทรงดอกไม้เดี่ยวและดอกไม้คู่ที่ประดับด้วยทับทิม, ไพลิน และเพชร รังสรรค์ขึ้นตามแบบศิลปะนิยมที่ออกแบบให้กลีบดอกไม้มีความสมจริงแนบเนียนไปกับรูปทรงตามธรรมชาติมากที่สุด ซึ่งเข็มกลัดที่ประดับอยู่บนสายของนาฬิกานั้นสามารถนำมาสวมใส่เป็นเข็มกลัดดอกไม้ชิ้นเด่นได้อีกด้วย  

ทุกครั้งที่มีการจัดแสดงผลงานชิ้นมรดกในนิทรรศการแวนคลีฟ แอนด์ อาร์เปลส์ยังได้รวบรวมเรื่องราวของงานออกแบบชิ้นสำคัญในแต่ละครั้งเพื่อจัดทำเป็นหนังสือ ซึ่งครั้งนี้มีเครื่องประดับรวมกว่า 700 ชิ้น ที่ต้องรวบรวมเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์กว่า 200 ชิ้นในการร้อยเรียงเป็นหนังสือเพื่อสะท้อนเรื่องราวอันลึกซึ้งภายใต้การออกแบบอันน่าหลงใหล

อ่านบทความเพิ่มเติม: ชมมรดกอันล้ำค่าของ Swarovski ในงานนิทรรศการ ‘Master of Light: From Vienna to Milan’ ณ กรุงมิลาน

RECOMMENDED READS